นักประดิษฐ์ส่วนใหญ่เป็นนักคิดค้น ที่หมกหมุ่นกับสิ่งหนึ่งอย่างมุ่งมั่น ทำให้หลายครั้งไม่ได้มองถึงเรื่องของตลาด และลืมไปว่าการทำเงินจากสิ่งที่คิดค้นขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ และหลายครั้งก็เก็บงานดีๆ ไว้ในตู้ล้อคกุญแจไว้ ดังนั้นหากจะเป็นนวัตกรรมได้ ต้องขายได้หรือใช้ประโยชน์แพร่หลายได้จริง ดังนั้นหลายครั้งที่เราเห็นนักประดิษฐ์กลับไม่ค่อยมั่งคั่ง ในขณะที่คนทำตลาดได้มักจะมั่งคั่ง แต่คนครบเครื่องอย่างเอดิสัน ที่คิดด้วยขายด้วยก็ยังพอมีให้เห็น
นวัตกรรมวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัว คนส่วนใหญ่มักกลัวนวัตกรรม เพราะคิดว่าต้องมีรากฐานอยู่บนการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ทั้งที่จริงๆแล้ว นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงการคิดค้นสิ่งใหม่อย่างเดียว แต่รวมถึงการต่อยอดหรือการนำเทคโนโลยี หรือสิ่งที่มีอยู่ไปสู่ตลาดให้ได้จริง หรือแม้กระทั่งแค่การออกแบบ และเกิดสิ่งใหม่ก็ถือเป็นนวัตกรรม ซึ่งสิ่งนี้คือความท้าทาย เพราะจากข้อมูลในอดีต นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จคือคนที่เข้าใจลูกค้า และนำนวัตกรรมไปตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่า นวัตกรรมไม่ได้หยุดแค่ความคิด แต่ต้องทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคมได้ ดังนั้น ต้องแยกความแตกต่างระหว่าง ประดิษฐกรรมและนวัตกรรมให้ได้ก่อน
ประดิษฐกรรม คือ การทำความคิดใหม่ที่เป็นความจริงขึ้นมาและจับต้องได้ แต่ยังไปไม่ถึงการนำไปทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือเชิงสังคม อย่างเป็นรูปธรรม หลายคนคงคุ้นเคยกับสิ่งประดิษฐ์มากมายที่พอมาใช้จริงแล้วกลับไม่ตอบโจทย์นวัตกรรม คือ ความคิดใหม่ ที่ทำให้เป็นจริงขึ้นมา และยังสามารถสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์ และสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่าง นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จสุดๆ ก็คือ เอดิสัน ที่นอกจากจะคิดค้นได้ แล้วยังขายได้อีกด้วย
ดังนั้น หลายครั้งที่เราคิดว่าเป็นนวัตกรรมแต่สิ่งเหล่านั้นกลับหยุดอยู่แค่สิ่งประดิษฐ์เท่านั้น ดังนั้นยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกมากที่รอการต่อยอดเพื่อเข้าสู่ภาคการตลาดให้ได้ ดังนั้นหากคิดเองด้านตลาดไม่ได้ ต้องพยายามหาทีมงานที่มองเห็นตลาด และร่วมสร้างตลาดให้เราได้ เพราะน้อยครั้งที่จะเจอคนครบเครื่องในคนเดียว อย่างลืมนะครับว่า Steve Jobs ก็ไม่ได้คิดค้นเองได้ทั้งหมด แต่เป็นคนเชื่อมโยงสิ่งทั้งหมดเข้าด้วยกัน และเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร